ประวัติสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ (กองวัคซีนเดิม)

กำเนิดกองวัคซีน (สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์) การป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ได้รับความสนใจจากกระทรวงเกษตราธิการ โดยเริ่มจัดตั้งหน่วยงานสัตวรักษ์หรือสัตวแพทย์ขึ้นในกรมเพาะปลูก ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2456 ได้เปิดสอนวิชาสัตวแพทย์ขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากพนักงานช่างไหม  กองช่างไหมเดิม (ภายหลังคือกรมเพาะปลูก)โดยมีอาจารย์ผู้สอนเป็นชาวต่างชาติ อังกฤษ หรืออเมริกัน การป้องกันและกำจัดโรคสัตว์ในยุคแรก ๆ นั้นเป็นโรคระบาดสัตว์ที่เกิดกับสัตว์พาหนะ เช่น โค กระบือ ได้แก่ โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย (บาร์โบน)และรินเดอร์เปสต์ (ลงแดง) ในช่วงนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสั่งซื้อเวชภัณฑ์ วัคซีนและเซรุ่มจากเมืองนาตรัง อินโดจีน (ของฝรั่งเศส) ซึ่งไม่ให้ผลดีเท่าที่ควรเพราะขาดประสิทธิภาพในการเก็บและขนส่ง ในปี พ.ศ. 2469-2470 เจ้ากรมเพาะปลูกพระสิทธิโกสัยพันธุ์ (พระยาอาหารบริรักษ์)และ ดร.อาร์.พี.โจนส์ ที่ปรึกษาสัตวแพทย์ กระทรวงเกษตราธิการ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการทดลองเซรุ่มรินเดอร์เปสต์ขึ้นใช้เองที่ตำบลสระปทุม ตอนหัวมุม ถนนสนามม้าเดิม(ปัจจุบันคืออังรีดูนังต์)ด้านเชื่อมติดต่อถนนพระราม 1 บริเวณด้านเหนือของคณะสัตวแพทยศาสตร์ และ ทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง เมื่อโครงการทดลองนี้เป็นผลดี จึงได้ทำการขยายโดยตั้งหน่วยผลิตเซรุ่มและวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ขึ้นที่ตำบลปากช่อง (ริมลำตะคลอง)อำเภอจันทึก (เดิม) จังหวัดนครราชสีมา

ในช่วงแรก ๆ ของการจัดตั้งหน่วยผลิตเซรุ่มนี้ ดร.อาร์.พี.โจนส์ ได้เคยปรารภอยู่เนืองๆ ว่าสถานที่นี้เป็นที่ทุรกันดารอย่างมาก ไม่ใคร่มีผู้คนอยู่อาศัย โรคภัยไข้เจ็บ   ชุกชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้จับสั่น ซึ่งร้ายแรงมาก การคมนาคมไม่สะดวกเพราะมีเพียงรถไฟอย่างเดียว รถที่ผ่านก็มีเพียงสองขบวน คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และแก่งคอย-สุรินทร์ ดังนั้นการดำเนินงานช่วงแรก คือการสำรวจบริเวณ และจับจองพื้นที่ซึ่งยังเป็นป่าการหักล้างถางป่า การดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่สำหรับงานผลิตเซรุ่ม บ้านพักเจ้าหน้าที่ตลอดจนการเตรียมคอกสัตว์ การปลูกพืชอาหารสัตว์และอื่น ๆ เหล่านี้ดำเนินไปด้วยความยากลำบากยิ่ง ในขั้นแรกทางการได้จับจองที่ดินไว้รวมทั้งสิ้น 8,000 ไร่ส่วนการดำเนินงานขั้นต่อ ๆ มา ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการคือ ขุนวิจิตรพาหนการ

และนายทวน ชมภูบุตร อีกส่วนหนึ่งของงานคือการส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ 2 นาย คือคุณหลวงศรีสาลีนิช และนายเขียว ผิวทองงาม (ขุนโกศลคาวีแพทย์) ผู้ซึ่งเดิมสังกัดอยู่หน่วยสัตวรักษ์กองทัพบก และสถานเสาวภา ไปศึกษาและดูงานผลิตเซรุ่มที่สถานวิทยาศาสตร์มุกเตซวาร์ประเทศอินเดีย เมื่อ ปี พ.ศ.2492 สถานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของกรมเพาะปลูกนี้ ได้เริ่มเปิดหน่วยงานผลิตเซรุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2472 และผลิตเป็นผลสำเร็จสมบูรณ์ออกใช้ได้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2473ซึ่งถือเป็นวันที่ระลึกของกองผลิตชีวภัณฑ์ตลอดมา ตราบจนกระทั่งวันนี้ สถานที่แห่งนี้ ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนมารวมเป็นเวลาถึง 94 ปี (พ.ศ. 2567) เมื่อมีการจัดระบบราชการแผ่นดินใหม่ในปี พ.ศ.2477

สถานีผลิตซีรั่มมีฐานะเป็นแผนกวัคซีนและซีรั่ม ในสายงานสัตวแพทย์ขึ้นกับกองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ (กองบำรุงสัตว์เดิม) กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ

ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 กองอุตสาหกรรมสัตวพรรณ จึงได้ขยายเป็นกองใหม่ 2 กองคือ กองสัตวรักษ์และกองสัตวบาล แผนกวัคซีนและซีรั่มจึงย้ายมาขึ้นกับกองสัตวรักษ์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2485 กองสัตวรักษ์ และกองสัตวบาล แยกออกจากกรมเกษตรและประมงยกฐานะขึ้นเป็นกรมปศุสัตว์ แผนกวัคซีนและซีรั่มจึงมาขึ้นกับ กองสัตวศาสตร์ กรมปศุสัตว์จนกระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบราชการ กรมปศุสัตว์ขึ้นใหม่ แผนกวัคซีนและซีรั่มจึงได้รับการยกระดับฐานะขึ้นเป็นกองวัคซีนและซีรั่มโดยประกอบด้วย   3 แผนก คือ แผนกวัคซีน แผนกซีรั่ม และแผนกอาหารสัตว์กองวัคซีนและซีรั่มจึงถือกำเนิดนับแต่นั้นมาจากกองวัคซีนเป็นกองผลิตชีวภัณฑ์และสุดท้ายเป็น“สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์”

กองวัคซีนและซีรั่ม เมื่อเริ่มตั้งประกอบด้วย 3 แผนก คือ แผนกวัคซีน, ซีรั่ม และอาหารสัตว์ต่อมามีการจัดระเบียบราชการกรมปศุสัตว์ขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2495 ให้กองวัคซีนและซีรั่มมี 3 แผนก คือ แผนกอำนวยการ แผนกวัคซีน และแผนกซีรั่ม และเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งตามพระราชกฤษฎีกา จัดระเบียบราชการกรมปศุสัตว์ เมื่อ พ.ศ. 2500 ประกอบด้วย 3 แผนก คือแผนกธุรการ แผนกแบคทีเรียวัคซีน และแผนกไวรัสวัคซีน ทั้งนี้คงชื่อกองวัคซีนและซีรั่มไว้จนกระทั่ง พ.ศ.2516 พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ กำหนดให้กองวัคซีนและซีรั่มเดิมเปลี่ยนเป็นกองผลิตชีวภัณฑ์ ซึ่งในเวลานี้เอง การแบ่งส่วนราชการแบ่งเป็น“งาน” แทน “แผนก" จากกระแส

การปฏิรูประบบราชการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2545 จัดแบ่งส่วนราชการใหม่ ซึ่งครั้งนี้กองผลิตชีวภัณฑ์ได้พัฒนาชื่อเป็น “สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์”

         สถานที่ตั้งและพื้นที่ที่ครอบครองปัจจุบัน สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลปากช่อง  อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่ราชพัสดุ เดิมมีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ แบ่งให้ส่วนราชการหลายแห่ง ได้แก่สถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประมาณ 377 ไร่ สถานีพัฒนา ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ประมาณ 577 ไร่และส่งมอบให้ราชพัสดุจังหวัดนครราชสีมา จัดเช่าทำกินให้ราษฎรประมาณ 573 ไร่ ปัจจุบันมีที่ดินเหลืออยู่ประมาณ 6,900 ไร่ มีหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ หลายหน่วยตั้งอยู่ คือสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ปากช่อง ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครราชสีมาและสำนักงานปศุสัตว์อำเภอปากช่อง นอกจากนั้นมีส่วนราชการอื่น เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง

 

อัพเดต : มกราคม 2567